วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552



กระบือกระบือหรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ควาย" เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ อีกทั้งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของชาวไร่ชาวนาในชนบทเป็นอย่างยิ่งในระบบเกษตร ยังมีชาวไร่ชาวนาอีกเป็นจำนวนมากที่อาศัยแรงงานจากควายในการทำไร่ไถนา และอื่น ๆ มูลใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินใส่ต้นไม้ได้เป็นอย่างดี ในด้านเศรษฐกิจควายมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะยามขาดแคลนน้ำมัน หลังหมดอายุการใช้งานแล้วยังขายได้เงินอีกด้วย เนื้อที่ขายตามท้องตลาดประมาณครึ่งหนึ่งเป็นเป้าหมาย และยังเป็นสินค้าส่งออกอีกด้วย ในปัจจุบันเครื่องมือการเกษตรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ควายยังถูกทอดทิ้งทุกขณะ ทำให้จำนวนควายลดน้อยลง ควายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเกษตรของเกษตรกร ชาวไร่ชาวนาในชนบทซึ่งส่วนใหญ่จะทำการเกษตรแบบระบบเกษตรรวม มีการปลูกพืชเป็นหลัก ชาวนาชาวไร่จะเลี้ยงวัวควายไว้ใช้งานและอื่น ๆ ซึ่งประโยชน์ของควายมีอีกหลายประการ ดังนี้ -ให้แรงงานสำหรับเกษตรกร ตามส่วน -ช่วยผ่อนคลายปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงสำหรับการเกษตร -ให้ผลผลิตคือ เนื้อ นม กระดูก หนัง ฯลฯ เพื่อใช้ภายในประเทศและต่างประเทศ -มีส่วนช่วยให้ระบบเกษตรของเกษตรกรไทยมีประสิทธิภาพ เช่น ใช้ฟาง หญ้า และเศษพืชอื่น ๆ ที่มีอยู่ในไร่นาให้เกิดประโยชน์ เป็นผลให้เกิดระบบเกษตรผสมผสานซึ่งมีความมั่นคงถาวรมากกว่า -เป็นทุนประกันในยามเกิดสภาวะวิปริต เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม หรือในยามจำเป็นต้องใช้เงินมาก ๆ -ได้มูลใช้เป็นปุ๋ยในไร่นา ในสภาวะที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ ชาวไร่ชาวนาหันมาใช้มูลวัวควายมากขึ้น บางรายอาจมีการหมักมูลเพื่อใช้ในการหุงต้ม -การเลี้ยงวัวควายเป็นงานของเด็กและคนชรา ทำให้แรงงานที่ว่างในครัวเรือนได้ทำงานมีผลผลิต ไม่สูญเปล่า ไม่เกิดปัญหาทางด้านจิตใจแก่สมาชิกในครอบครัวที่มีฐานภาพต่างกัน นอกจากนั้น คนที่ว่างงานจากการเพาะปลูกก็ได้มีงานทำ -มีรายได้เสริมจากการขายมูลสัตว์ ลูกที่เกิดใหม่หรือสัตว์ที่ปลดระวางแล้ว พันธุ์ควาย ควายในโลกที่มีอยู่ประมาณ 130 ล้านตัว ประมาณร้อยละ 97.5 อยู่ในแถบประเทศเอเชีย จึงได้ชื่อว่าสัตว์เอเชีย อย่างไรก็ตามในหลายประเทศในทวีปอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล รัสเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น ก็มีการเลี้ยงควาย ควาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า (Bubalus bubalis) แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ก. ควายแม่น้ำ (River buffalo) บางครั้งเรียกควายแขก เพราะเลี้ยงมากในประเทศอินเดีย ปากีสถานจัดว่าเป็นควายนม แต่ก็ใช้งานได้ให้เนื้อก็ดี ชอบนอนในน้ำลึก น้ำใสหรือในแม่น้ำ ควายประเภทนี้ในประเทศไทยมีอยู่เพียงพันธุ์เดียว คือ พันธุ์มูร์ราห์ ข. ควายปลัก (River buffalo) เป็นควายที่เลี้ยงมากในประเทศจีนตอนใต้ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ควายไทยจัดเป็นประเภทควายปลักเลี้ยงไว้เพื่อใช้งาน ใช้เนื้อบริโภคกันทั่วไป คนนิยมพอ ๆ กับเนื้อวัว ให้นมบ้างวันละ 1-3 ลิตร ควายปลักชอบนอนในปลักโคลนอันเป็นหลุมดินเละ ๆ เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้แล้วเวลาอากาศร้อนชอบลงลอยคอในคูคลองน้ำลึก การคัดเลือกควายลักษณะที่ดี ความเชื่อของชาวบ้านอาจมีความแตกต่างกันจากท้องที่หนึ่งไปยังอีกท้องที่หนึ่ง ซึ่งพอสรุปลักษณะควายที่ดีในทรรศนะของเกษตรกรภาคอีสาน ลำตัว ควายดีควรมีลำตัวใหญ่และยาว ขาแข็งแรงทั้ง 4 ขา และได้สัดส่วนเหมาะสมกับลำตัว ส่วนหัว ควายใช้งานควรมีหน้าค่อนข้างยาว ตา แจ่มใส เบ้าตาใหญ่และแข็งแรง ไม่มีจุดฝ้าและสีผิดปกติ จมูก รูจมูกใหญ่ จมูกชุ่มชื้นอยู่เสมอ เขา นิยมควายเขากรอบหรือเขาโง้ง คล้ายวงพระจันทร์ มีขนาดสวยงาม โคนมเขาใหญ่แข็งแรง ปลายเขาเรียว คอ อวบใหญ่หนาบึกบึน ขา โคนขาใหญ่ ค่อย ๆ เรียวลงสู่ปลายเท้าถึงกีบ กีบ ต้องมีอุ้มกีบใหญ่ อก ใหญ่หรือที่เรียกว่ากะโหลกมะพร้าว หลัง แบนและกว้าง สันหลังนูนแหลมเป็นสันเป็นลักษณะไม่ดี ท้อง เหมาะสมกับลำตัว ไม่กางหรือบวมโตจนเกินไป ผิวหนังบางและอ่อนนุ่ม เชื่อว่าส่อลักษณะว่านอนสอนง่าย แต่บางคนชอบหนังหนาเชื่อว่าเลี้ยงง่าย โตเร็ว สีผิวหนัง ชอบสีดำมากกว่าสีเทา เชื่อว่าควายดำทำงานทนกว่า ขน ยาวและดก เชื่อว่าโตเร็ว ทนโรค หาง คอกยาวเลยข้อขาหลังลงมา ขนหางเป็นพู่ใหญ่ โคนหางใหญ่และเรียวลงสู่ปลายทาง ฟัน เชื่อว่าควายฟันขาวเติบโตและสุขภาพดีกว่าควายฟันเหลือง ขวัญ เกษตรกรยังเชื่อเรื่องขวัญมาก ในบางท้องที่จะไม่ยอมซื้อควายที่มีขวัญไม่ดีเข้าบ้าน ขวัญดี ได้แก่ "ขวัญก้อนชางแก้ว" คือ ขวัญสามเส้าบริเวณหน้า ขวัญหนึ่งบริเวณหน้า สองขวัญอยู่สองด้านของดั้งจมูก "ขวัญกางหบ" อยู่บริเวณหนอก "ขวัญห้อยหิ่ง" อยู่ตรงกลางด้านล่างของคอ "ขวัญอกแตก" อยู่ด้านบนของลำคอ ขวัญไม่ดี ได้แก่ "ขวัญนั่งทับ" หรือ "ขวัญที่นั่งโจร" อยู่ประมาณด้านหน้าหรือกลางหลัง "ขวัญกระทาบหน้า" อยู่ด้านข้างของลำตัวส่วนหน้า "ขวัญกระทาบหลัง" อยู่สองข้างของสวาบ และ "ขวัญลึงค์จ้ำ" หรือ "ขวัญลึงค์ฟัก" อยู่ด้านหน้าของอวัยวะเพศผู้ การเลี้ยงดู การเลี้ยงโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 แบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการเลี้ยงเป็นหลัก คือ การเลี้ยงแบบพื้นบ้าน เป็นการเลี้ยงควายเพื่อใช้งานเป็นหลัก ผลพลอยได้คือ ควายเนื้อ เมื่อปลดงานแล้ว การเลี้ยงแบบนี้ลงทุนต่ำมาก ใช้อาหารเท่าที่มีในพื้นบ้าน ควายจะมีขนาดใหญ่โตพอใช้งานได้ ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป ชาวบ้านเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ควายมีนิสัยเชื่องและสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างดี การเลี้ยงแบบขุน เป็นระบบเลี้ยงควายเพื่อมุ่งผลิตเนื้อเป็นหลัก แบ่งได้ 2 แบบ ก. การเลี้ยงขุนแบบพื้นบ้าน เป็นกิจกรรมขนาดเล็กเลี้ยงรายละ 1-3 ตัว ให้อาหารที่หาได้ในท้องถิ่น ข. การเลี้ยงขุนแบบการค้า เป็นกิจกรรมขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนสูง จะต้องอาศัยตลาดเนื้อที่ให้ราคาดีพอควร ถ้าตลาดต้องการเนื้อมากและให้ราคาดีอาจขุนแบบให้อาหารข้น แต่ถ้าราคาเนื้อดีพอควรก็อาจใช้อาหารหยาบที่ได้จากวัสดุพลอยได้ต่าง ๆ ร่วมกับวัสดุส่วนผสมอื่น ๆ การเลี้ยงแบบฟาร์มปศุสัตว์ เป็นระบบการเลี้ยงที่ต้องการที่ดินกว้างขวาง มีการลงทุนเกี่ยวกับพื้นที่และโรงเรือน การเลี้ยงแบบนี้มุ่งผลิตลูกควายเพื่อจำหน่ายและผลิตควายเนื้อเป็นหลัก อาหารควาย ควายเป็นสัตว์กระเพาะรวม (Ruminant) เช่นเดียวกับวัว คือมีกระเพาะสี่ช่วงได้แก่ กระเพาะดอกจอก (Reticulum) กระเพาะผ้าขี้ริ้ว (Rumen) กระเพาะสามสิบกลีบ (Omasum) และกระเพาะธรรมดา (Abomasum) ควายมีนิสัยกินหญ้าไม่เลือก กินหญ้าเกือบทุกชนิด กินทั้งหญ้าอ่อนและหญ้าแก่ และกินกิ่งโคน แม้แต่ผักหญ้าที่ขึ้นในคูคลอง เช่น ผักตบ ดอกจอก หญ้ากก ควายก็ลงไปกินได้ การเลี้ยงควายของชาวบ้านได้อาหารจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ 1. ผลพลอยได้หรือสิ่งเหลือทิ้งจากการกสิกรรม โดยเฉพาะฟางข้าวจากการทำนา 2. พืชอาหารสัตว์และวัชพืชที่ขึ้นอยู่ในที่ทั่ว ๆ ไป เช่น ตามคันนา หัวไร่ปลายนา สองข้างถนนและตามที่รกร้างว่างเปล่า ผลพลอยได้หรือสิ่งเหลือทิ้งจากการกสิกรรม ผลพลอยได้จากการเพาะปลูกมีอยู่มากมาย เช่น ฟางข้าว ยอดอ้อย ใบมันสำปะหลัง ใบยอ ซังข้าวโพด ต้นถั่วเหลือง ถั่วเขียว ฯลฯ ซึ่งเป็นเพียงบางตัวอย่างที่เป็นผลพลอยได้จากการเพาะปลูกที่เหลือทิ้งเป็นอันมาก อันสามารถนำมาใช้เป็นอาหารควายได้อย่างดี ราคาถูกหรือไม่ต้องซื้อหา การหันมาใช้วัสดุเหล่านี้เป็นอาหารสัตว์อย่างจริงจังจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ การใช้ผลพลอยได้จากการเกษตรเป็นอาหารสัตว์มีข้อดีดังนี้ -ใช้ประโยชน์วัสดุที่มีอยู่แล้ว -เป็นวัสดุที่มีราคาถูกหรือไม่ต้องซื้อหาในไร่นา -เนื่องจากพืชอาหารสัตว์ในเขตร้อนมีคุณภาพต่ำ -ใช้เป็นอาหารเสริม -ไม่ต้องอาศัยแหล่งอาหารสัตว์จากภายนอก -แก้ไขการขาดแคลนอาหารสัตว์ในฤดูที่ขาดแคลน -ใช้ในการขุนสัตว์ในคอกได้สะดวก พืชอาหารสัตว์และวัชพืชต่าง ๆ พืชอาหารสัตว์ ได้แก่ พืชประเภทหญ้าและถั่วเป็นส่วนใหญ่ที่ปลูกไว้เป็นอาหารสัตว์ เช่น หญ้าขน หญ้ากินี หญ้าเนเปียร์ หญ้าแพรก และหญ้าอื่น ๆ อีกบางชนิด ตลอดจนหญ้าพื้นเมือง พืชจำพวกถั่ว ได้แก่ ถั่วฮามาต้า ถั่วชีราโตร ถั่วเซ็นโตรซีมา ถั่วลิสงนา ถั่วผี เป็นต้น นอกจากพืชอาหารสัตว์โดยเฉพาะแล้ว พืชพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่ทั่ว ๆ ไปตามคันนา หัวไร่ปลายนา ที่รกร้าง ป่าสงวน ทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะก็ใช้เลี้ยงควายได้ ผักตบชวา ต้นหญ้าน้ำชนิดต่าง ๆ แม้แต่ใบสาบเสือ ควายก็กินได้ในยามขาดแคลนจริง ๆ อย่างไรก็ดี พืชต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วซึ่งขึ้นอยู่ในภูมิประเทศแถบร้อน เช่น ประเทศไทยมักมีคุณภาพต่ำ มีองค์ประกอบที่เป็นโปรตีนต่ำ ส่วนใหญ่มีไม่เกิน 3-6 เปอร์เซ็นต์ ต่อหน่วย น้ำหนักแห้ง ถ้ามีโปรตีนถึง 7 เปอร์เซ็นต์ถือว่ามีคุณภาพดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าหญ้านั้นมีอายุแก่อ่อนเพียงใด ปลูกโดยใส่ปุ๋ยหรือไม่ สัตว์ที่ได้รับอาหารที่เป็นพืชคุณภาพต่ำเป็นเวลานาน ๆ อาจสูญเสียความเจริญอาหารกินอาหารได้น้อย น้ำหนักตัวลด มีอัตราการตกลูกต่ำและอ่อนแอต่อโรค จึงสมควรให้อาหารอย่างอื่นเสริมด้วย เพื่อปรับปรุงคุณภาพของอาหารที่สัตว์ได้รับทั้งหมด พืชอาหารสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ นับว่ามีความสำคัญเพราะในฤดูแล้ง อาหารสัตว์ขาดแคลน โดยเฉพาะในฤดูเพาะปลูก อาหารสัตว์ขาดแคลนมากในท้องที่ทำนาเพราะเนื้อที่ดินส่วนใหญ่ใช้ในการเพาะปลูกเสียหมด ซึ่งจำเป็นต้องหาหญ้าตามหัวไร่ปลายนามาให้กินร่วมกับฟางข้างที่ได้เก็บสะสมไว้